ประโยคยอดนิยมประโยคหนึ่งของนักลงทุนชื่อดัง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ผู้เป็นนักลงทุนเน้นคุณค่าที่ว่า “คนๆ หนึ่งนั่งอยู่ในร่มเงาแห่งพฤกษชาติได้ก็เพราะมีใครบางคนปลูกมันไว้เมื่อนานมาแล้ว” ให้ข้อคิดทรงคุณค่ากับผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก ซึ่งคุณค่าที่ว่านั้นจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรหรือบริษัทนั้นๆ หากบริษัททุ่มเทให้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนละทิ้งเรื่องสำคัญอื่นไปก็อาจทำให้ก้าวสำคัญทางธุรกิจพังลงได้เนื่องจากขาดความสมดุลที่จะสร้างผลกำไรอย่างยั่งยืน วันนี้ TeachmeBiz จะพามารู้จักแนวคิด QCD ว่าจะสร้างความยั่งยืนให้องค์กรได้อย่างไร
QCD คืออะไร
QCD เป็นชื่อเรียกโดยย่อของคำ 3 คำที่ถูกนำมาใช้ลงกันอย่างลงตัว โดยเป็นอักษรย่อจากคำว่า คุณภาพ (Quality) ต้นทุน (Cost) และ การส่งมอบ (Delivery) และสามารถพูดได้ว่าเป็นส่วนประกอบที่องค์กรแต่ละองค์กรใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
-
คุณภาพ (Quality)
คุณภาพในความหมายของ QCD จะเน้นไปที่คุณภาพของตัวผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของบริษัทเป็นหลัก เพราะว่าเป็นคุณค่าที่สำคัญที่สุดที่องค์กรส่งมอบให้กับลูกค้าโดยตรงไม่ว่าส่วนผสมอื่นทางการตลาดจะเป็นเช่นไร เช่นเรื่อง ราคา การหาซื้อง่าย หรือแม้แต่โปรโมชั่นที่แสนดึงดูดใจ ก็มิอาจเทียบได้กับความพอใจในคุณภาพ
-
ต้นทุน (Cost)
ต้นทุนในที่นี้จะหมายถึงต้นทุนในกระบวนการผลิตสินค้านั้นๆ ซึ่งหมายถึงต้นทุนและเวลาที่ใช้ในการผลิตเป็นสำคัญ มิได้หมายรวมไปถึงเทคนิคการตั้งราคาที่ช่วยให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น (แม้ต้นทุนเท่าเดิม)
-
การส่งมอบ (Delivery)
การส่งมอบใน QCD หมายถึง เวลาที่ใช้ในการส่งมอบสินค้าไปถึงมือลูกค้า ปัจจัยนี้มีความสำคัญเช่นกันจึงถูกคัดเข้ามาอยู่ใน QCD ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ว่าคุณภาพสินค้าจะสูงและต้นทุนต่ำเพียงใดแต่หากไม่สามารถส่งสินค้าได้ทันตามความต้องการของลูกค้า ก็ย่อมสร้างความไม่พอใจเช่นกัน เวลาที่พูดถึงในบริบทนี้คือเวลาตั้งแต่ที่ใช้ในการผลิตรวมกับเวลาที่ใช้ในการขนส่งเข้าด้วยกัน เพราะองค์กรคงไม่อยากให้ลูกค้ามองว่าส่งสินค้าให้พวกเขาสายเสมอเป็นแน่
ความสำคัญของ QCD ต่อกระบวนการผลิต
การเพิ่มคุณค่าของ QCD ต่อกระบวนการผลิตทำให้เห็นมุมมองที่สำคัญดังนี้
-
เพิ่มคุณภาพของสินค้าและผลกำไรให้สอดคล้องกัน
จุดประสงค์ของการเพิ่มคุณค่าของ QCD คือ “การทำอย่างไรให้ปรับปรุงคุณภาพของสินค้าได้สูงที่สุดในเวลาที่สั้นที่สุดโดยไม่กระทบต้นทุนต่อทั้งองค์กรและลูกค้า“ ซึ่งนี่เองคือโจทย์หลักที่ทุกองค์กรนำมาเป็นวิธีคิด (Mindset) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าต่างๆ หากเราพัฒนาให้สินค้ามีคุณภาพสูงแต่ไม่สามารถทำกำไรได้องค์กรก็มิอาจอยู่ได้ ในทางกลับกันแม้สินค้าส่งมอบได้เร็วในราคาต่ำแต่สินค้าใช้ไม่นานก็ชำรุด ลูกค้าก็คงหนีไปหาคู่แข่ง ดังนั้น QCD จึงเป็นความสัมพันธ์ที่คานกันอยู่ของทั้ง คุณภาพ ต้นทุน และเวลา ที่เมื่อตัวใดตัวหนึ่งเปลี่ยน ก็ส่งผลต่อตัวอื่นๆ ด้วย เราจึงต้องหาจุดสมดุลที่สุดเพื่อคุณภาพสินค้าและผลกำไรขององค์กร
-
การหาจุดเหมาะสมของกระบวนการผลิต
การเพิ่มคุณค่าของ QCD มาจากการพัฒนากระบวนการผลิตทั้งหมดด้วย ตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงมือลูกค้า โดยพัฒนากระบวนการผลิตแบบองค์รวม เช่น การปรับมาตรฐานการทำงานในกระบวนการต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน (SOP) การสร้างคู่มือที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การปรับใช้เครื่องจักร การนำดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการต่างๆ ปัญหาใดๆ ในกระบวนการผลิตสามารถนำมาซึ่งการปรับปรุง QCD ได้เสมอเพราะเมื่อมันถูกแก้ไขย่อมทำให้กระบวนการผลิตดีขึ้น
-
การสร้างความแตกต่างให้องค์กรเหนือคู่แข่งสู่การบริหารธุรกิจในระยะยาว
การสร้างความสมดุลระหว่าง QCD เป็นสิ่งสำคัญ หลายๆ ท่านคงเคยได้ยิน ว่าบางองค์กรสร้างความพึงพอใจสินค้าให้เหนือกว่าที่ลูกค้าคาดหวัง แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อลูกค้า แต่จะส่งผลดีต่อองค์กรหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจ “ความต้องการ” ของลูกค้า เพราะหากผลิตแต่สินค้าที่เหนือความต้องการย่อมนำมาซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างในมุมมองเรื่องเวลาการส่งมอบ เช่น ต้องการสร้างข้อได้เปรียบทางการค้า จึงส่งมอบสินค้าถึงมือลูกค้าได้เร็วมาก คำถามคือ เร็วเพียงใดถึงจะเพียงพอ? สิ่งหนึ่งที่พอจะสร้างความแตกต่างให้องค์กรได้ก็คือ เร็วกว่าคู่แข่งอื่นๆในตลาดที่ขายสินค้าประเภทเดียวกัน หากใช้เกณฑ์นี้เป็นตัวนำทางองค์กรจะสามารถขายสินค้าได้ในราคาสมเหตุสมผลและยังทำกำไรจากสินค้าได้ด้วย
การใช้ Teachme Biz คือการสร้างมาตรฐานในการทำงานที่สำคัญ
เพิ่มคุณค่าให้กระบวนการผลิตด้วย 3 ขั้นตอน
หากเราสามารถพัฒนากระบวนการผลิตตลอดทั้งสายได้ จะทำให้เราสามารถเพิ่มประสิทธิผลของ คุณภาพสินค้า ต้นทุน และเวลาที่ใช้ผลิตเพื่อส่งมอบให้ดีขึ้นได้ทั้งสามด้านของ QCD ตาม 3 ขั้นตอนนี้
1. หาข้อมูลทรงคุณค่าจากหน้างาน
ปกติเราจะรับรู้สถานการณ์ต่างๆ จากหัวหน้างานหรือผู้จัดการของฝ่ายผลิต แต่จะดียิ่งขึ้นหากเราได้ฟังเสียงจากพนักงานหน้าสายการผลิตโดยตรง องค์กรสามารถหาจุดปรับปรุงได้ตั้งแต่ต้นสายการผลิตจนส่งมอบให้ลูกค้าโดยการสัมภาษณ์พนักงานหน้างานในทุกกระบวนการ นับเป็นข้อมูลที่มีค่าอย่างยิ่ง
2. ค้นหาจุดปรับปรุงและดำเนินการแก้ไข
เมื่อได้ข้อที่ควรปรับปรุงแก้ไขแล้ว ให้นำมันมาจัดลำดับความสำคัญบนพื้นฐานของ QCD สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้คือการสร้างตัวชี้วัดว่าควรปรับปรุงเรื่องใดก่อน ตัวอย่างการสร้างตัวชี้วัดเช่น จำนวนครั้งที่ได้รับการเคลมจากลูกค้า จำนวนครั้งที่ลูกค้าติสินค้า อัตราการเกิดสินค้าเสียหาย เป็นต้น โดยพยายามให้อยู่ในรูปแบบตัวเลข เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจว่าควรทำสิ่งใดก่อนจะคุ้มค่าที่สุด
3. ตรวจสอบผลอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงในครั้งต่อไป
หากรู้ว่าจะปรับปรุงเรื่องใดก่อนแล้ว ให้ตรวจสอบผลของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องว่าปรับปรุงแล้วดีขึ้นจริงหรือไม่ คุ้มค่ากับทรัพยากรที่ลงทุนไปมากเพียงใด เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการปรับปรุงจุดบกพร่องนั้นๆ และคอยตรวจสอบผลอย่างต่อเนื่องตามแนวคิดการไคเซ็น (Kaizen) นั่นเอง
ข้อมูลจากพนักงานหน้างานล้วนมีค่า
การต่อยอด QCD ให้ทรงประสิทธิภาพ
ทั้งหมดนี้คือแนวคิดหลักในการสร้างความยั่งยืนขององค์กร ปัจจุบันยังมีการต่อยอดจาก QCD ไปยังเรื่องอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันด้วยในระดับที่สูงขึ้นที่บางองค์กรก็ผนวกรวมเข้าไปในการทำงานเช่นกันคือ
- ความปลอดภัย: ความปลอดภัยของพนักงานที่ทำงานในสายการผลิต
- บริการหลังการขาย: หากการบริการไม่ดีแม้สินค้าจะดีเพียงใดก็อาจเกิดการบอกต่อและสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปได้
- ประสิทธิภาพ: ทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งสำคัญหากไร้ซึ่งมนุษย์ในการขับเคลื่อนองค์กรก็มิอาจอยู่ได้
- สิ่งแวดล้อม: องค์กรจะยั่งยืนในระยะยาวไม่ควรสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
- ความยืดหยุ่นในการบริหารธุรกิจ: หากต้องปรับเปลี่ยนเครื่องมือ โรงงานในอนาคตจะทำให้เกิดต้นทุนการเปลี่ยนแปลงที่สูงเกินไปหรือไม่
ตัวอย่างการต่อยอดที่นอกเหนือจาก QCD
มีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ในการตัดสินใจรักษาสมดุลของ QCD ยังมีปัจจัยอื่นให้ได้พิจารณากันอีกด้วย โดยในที่นี้ จะมีการต่อยอดไปถึงเรื่อง “ความยืดหยุ่น” ในการบริหารธุรกิจด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
นาย ก. เห็นว่าสินค้าของบริษัทมีแนวโน้มขายดีขึ้นต่อเนื่อง จึงอยากจะขยับขยายกำลังการผลิต เมื่อลองโฟกัสที่จุดหนึ่งของกระบวนการผลิตที่ต้องขนย้ายสินค้าจากกระบวนการหนึ่ง (จุดA) ไปอีกกระบวนการหนึ่ง (จุดB) พบว่ามีปัจจัยให้เลือกสำหรับการเคลื่อนย้ายสินค้า ดังนี้
- เพิ่มคนงาน: เนื่องจากกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจึงเพิ่มจำนวนคนงานสำหรับกระบวนการขนย้ายสินค้า การเพิ่มคนงานนี้เป็นวิธีแรกที่ทำง่ายที่สุด แต่คุณภาพการขนย้ายขึ้นกับฝีมือของแรงงาน
- สร้างสายพานลำเลียง: แทนที่จะจ้างคนงานเพิ่มเพื่อมาขนย้ายสินค้า เปลี่ยนเป็นลงทุนสร้างสายพานลำเลียงขึ้นมาเลย จะประหยัดต้นทุนด้านแรงงานในระยะยาว แต่ข้อเสียคือ การติดตั้งสายพานลำเลียงเมื่อติดตั้งแล้ว หากอนาคตอยากปรับเปลี่ยนจะทำได้ยาก
- ใช้หุ่นยนต์ขนย้ายอัตโนมัติ: หุ่นยนต์สำหรับขนย้ายในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานให้ยุ่งยาก เพราะหุ่นยนต์สามารถเดินตามแผนที่ได้โดยอัตโนมัติ แถมยังปรับเปลี่ยนง่ายตามหน้างานต่างๆ แต่ต้นทุนหุ่นยนต์ต่อตัวสูงมาก
จะเห็นว่าหากใช้ เฉพาะคุณภาพ ต้นทุน และการส่งมอบ (QCD) เป็นตัวตัดสิน บางองค์กรอาจเลือกข้อ1) หรือข้อ2) เนื่องจากต้นทุนถูกกว่า เริ่มต้นได้ง่าย และคืนทุนได้ไว แต่องค์กรขนาดใหญ่ เงินลงทุนสูงอาจเลือกข้อ 3) เพราะประหยัดต้นทุนคงที่ในะระยะยาวและสามารถปรับเปลี่ยนหน้างานได้ตามกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กร
ตัวอย่างสายพานลำเลียงสินค้า
เข้าใจ QCD และปรับใช้ให้เหมาะกับองค์กร
ถึงบรรทัดนี้ผู้อ่านทุกท่าน คงพอเข้าใจ QCD กันมากขึ้น และนำแนวคิดไปพัฒนากระบวนการผลิตให้สมดุลทั้ง “คุณภาพ” “ต้นทุน” และ “การส่งมอบ” ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้องค์กรต่อไป เมื่ออนาคตองค์กรแข็งแกร่งจากปัจจัยหลักของ QCD แล้ว ก็ลองขยายผลลัพธ์จาก QCD ไปยังปัจจัยอื่นด้วย เพื่อให้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้น โดยไม่ลืมว่าการตัดสินใจนั้น ขึ้นอยู่กับบริบทขององค์กร และแผนธุรกิจขององค์กรเป็นสำคัญ
Teachme Biz - Visual SOP Management Platform คือระบบจัดการคู่มือออนไลน์ที่จะเปลี่ยนการจัดการของทั้งคู่มือการทำงาน, Work Instruction, Workflow, หรือ SOP ที่แสนยุ่งยากให้ง่ายด้วยสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว เข้าใจง่ายด้วยภาพและวิดีโอแบบ step-by-step เก็บคู่มือการทำงานของทั้งองค์กรไว้บนออนไลน์ ง่ายแต่ปลอดภัยในการเข้าถึง เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างมาตรฐาน และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรคุณ
ท่านใดต้องการสร้างคู่มือที่ใช้งานได้จริง หรือต้องการสร้างมาตรฐาน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น ติดต่อปรึกษาเราได้ที่ LINE OA: @studist.th !