062-295−6588 contact-th@studist.co.th

หากลองหลับตาและจินตนาการถึงเสื้อสีพื้น 2 ตัวถูกตัดออกมาอย่างประณีต ทุกฝีเข็มที่เย็บ และทุกอณูสีที่หยดบนใยผ้าล้วนมาจากทุกวินาทีแห่งความตั้งใจ แม้จะแยกกันแทบไม่ออกด้วยสายตา แต่ถ้าเสื้อตัวหนึ่งมีโลโก้แบรนด์ดังระดับโลกประทับลงไป ก็ทำเอาประทับใจผู้คนและยอมจ่ายเงินที่มากกว่าเพื่อเป็นเจ้าของเสื้อตัวนั้น คุณเป็นคนหนึ่งรึเปล่าที่ยอมควักเงินจ่ายไปแบบนั้นหรือคุณเป็นผู้ที่อยากจะเพิ่มคุณค่าของแบรนด์ที่คุณสร้างมันขึ้นมา ไม่ว่าเป็นอย่างไหน วันนี้ Teachme Biz มีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากกัน

คุณค่าของแบรนด์คืออะไร

หากใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “เงิน” เป็นตัววัดคุณค่าของแบรนด์ คุณค่าของแบรนด์จะถูกจำกัดอยู่ที่สินทรัพย์โดยรวมของแบรนด์นั้น ๆ ซึ่งในความเป็นจริง สินทรัพย์รวมของแบรนด์นั้น ๆ เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าแบรนด์นั้นมีคุณค่ามากเท่าใด แต่หากเรามองแบบองค์รวมแล้ว คุณค่าของแบรนด์เป็นมากกว่าตัวเงิน เพราะมันหมายรวมถึง คุณค่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นในมุมมองของผู้บริโภคทั้งในรูปธรรมและนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ผู้บริโภคได้สัมผัส คุณค่าทางจิตใจ การกลับมาซื้อสินค้าหรือบริการซ้ำแล้วซ้ำอีกของผู้บริโภค หรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมของสินค้าเช่น แพ็คเก็จ สี เหล่านี้ล้วนเป็นคุณค่าของแบรนด์ทั้งสิ้น

AMAZON: มูลค่าแบรนด์สูงสุดกว่า 315,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี2019 จากการจัดอันดับของ CNBC

มูลค่าของแบรนด์ที่จัดอันดับโดยเครือข่ายโทรทัศน์ชื่อดังด้านเศรษฐกิจอย่าง CNBC ได้จัดอันดับคุณค่าของแบรนด์ของปี 2019 และ3อันดับแรกก็เป็นแบรนด์ที่เกินค่อนโลกรู้จักกันดี

อันดับ 1 Amazon มูลค่าของแบรนด์ประมาณ 315,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

อันดับ 2 Apple มูลค่าของแบรนด์ประมาณ 309,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

อันดับ 3 Google มูลค่าของแบรนด์ประมาณ 309,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

และยังมีอีกหลายอันดับในช่วง TOP 10 ที่เอ่ยชื่อมาก็แทบจะไม่มีใครไม่รู้จักเต็มชาร์จไปหมด

เราจะเพิ่มคุณค่าของแบรนด์เราได้อย่างไร

1. รู้จักลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย (Know your target customers)

ปัจจัยอย่างหนึ่งในการเพิ่มคุณค่าแบรนด์ที่หลายคนมองข้ามคือการรู้จักกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รู้จักในที่นี้ผมหมายถึงการรู้จักจริง ๆ อย่างละเอียด รู้จักทั้งในแง่ของประชากรศาสตร์ เพศ อายุ รายได้ ระดับการศึกษา ภูมิลำเนาที่อยู่อาศัย การใช้ชีวิต บุคลิกลักษณะ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราพอมองเห็นกรอบคร่าว ๆ ของลูกค้าเราว่าเป็นกลุ่มคนไหนและจะทำให้เราเข้าใจความต้องการของเขาได้มากขึ้น

สิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องของประชากรศาสตร์ก็คือเรื่องของความต้องการเบื้องลึก (Insight) ของลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งอาจจะเป็นความต้องการที่แม้แต่ตัวลูกค้าเองก็ยังไม่รู้ว่าต้องการ หากเราค้นพบความต้องการเบื้องลึกนั้น และสามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้ ก็ยากนักที่ลูกค้าจะทัดทานแบรนด์ของเราไหว

หากสินค้าคุณมีกลุ่มเป้าหมายเป็นสาววัยรุ่น คุณจะทำดังตัวอย่างข้างล่างนี้ไหม

ตัวอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจจะเคยเห็นกันในท้องตลาดบ้านเรา คือ แบรนด์สินค้าที่กลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นเพศหญิง พิจารณาแล้วก็ควรใช้หญิงสาววัยทีนน่ารัก ๆ ผิวใสเนียนสวยมาเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์น่าจะดึงดูดให้ลูกค้าอยากจะหันมาใช้แบรนด์นั้น ๆ ได้ไม่น้อย แต่แบรนด์นี้ทำตรงกันข้าม กลับใช้หนุ่มวัยรุ่นหน้าตาดีมาเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าในแทบทุกรายการสินค้า และยอดขายก็ถล่มทลาย สินค้ากลุ่มนั้นคือน้ำหอมระงับกลิ่นกายหรือโคโลญ และนั่นก็เป็นผลมาจากการทำวิจัยอย่างหนักของแบรนด์ในเชิงคุณภาพเพื่อรู้จักและค้นหาความต้องการเบื้องลึกของลูกค้า เรียกได้ว่าแบรนด์ดังกล่าวก็ตอบสนองความต้องการลูกค้าพวกเขาไปเต็มๆ

2. สม่ำเสมอ (Consistence)

เรื่องหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในการสร้างและเพิ่มคุณค่าของแบรนด์ คือการใช้ “งบประมาณ” หรือเงินในการลงทุนนั่นเอง เป็นไปได้ยากมากที่จะสร้างแบรนด์ให้มีคุณค่าแก่ลูกค้าจนลูกค้าหลงใหลโดยไม่ได้ลงทุนอะไรเลยสักบาท ในทางกลับกัน เป็นไปไม่ได้เช่นกันที่จะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ตราตรึงใจลูกค้าโดยการโหมกระหน่ำสร้างแบรนด์ด้วยเม็ดเงินมหาศาล โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของสินค้าเลย เหนือกว่าเรื่องงบประมาณก็คือการทำให้คุณค่าของแบรนด์สื่อออกไปถึงลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายแบรนด์กลับมองข้าม เพราะคุณค่าของแบรนด์นั้นเป็นความรู้สึก ความทรงจำของลูกค้า ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมากในทุกวันของการดำเนินชีวิต

Coca Cola อีกหนึ่งแบรนด์ที่สร้างแบรนด์มาช้านาน นับมูลค่าประมาณ 84,000ล้านเหรียญสหรัฐ ข้อมูลจาก Statista.com

ลองนึกย้อนกลับไปในวัยเด็ก วันนั้นคุณเห็นโฆษณาของสินค้าหรือแบรนด์ใดทางทีวี และทุกวันนี้มันก็ยังคงโลดแล่นให้คุณเห็น ส่วนใหญ่แบรนด์เหล่านั้นมักเป็นแบรนด์ใหญ่ที่ยังคงคุณค่าของแบรนด์ไว้ได้ดีแม้จะผ่านไปนานนับ 10 ปีก็ตาม  อย่างเช่นแบรนด์น้ำดำที่ประชากรทั่วโลกยังคงดื่มกันไม่หยุด

3. รู้ทันคู่แข่ง (Know your competitors)

มีสัตว์มากมายในไพรกว้าง 

ทำไมมีกวางเพียงตัวเดียวในตอนนั้นที่กลายเป็นอาหารของพยัคฆ์ที่หิวโซ 

กฎแห่งการอยู่รอดในระบบนิเวศนี้คือ 

“วิ่งให้เร็วเข้าไว้ อย่างน้อยให้เร็วกว่าตัวที่ช้าที่สุด”

การทำแบรนด์และสร้างมูลค่าของแบรนด์ก็คงไม่ต่างกันมากนัก เพราะไม่ใช่เราเพียงองค์กรเดียวที่กำลังนำเสนอสินค้าหรือบริการให้ลูกค้า ไม่ว่าเราจะทำสินค้าหรือบริการดีออกมาแค่ไหน แต่นั่นอาจจะยังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับคู่แข่ง สุดท้ายถ้าคู่แข่งทำได้ดีกว่าลูกค้าก็เลือกคู่แข่งอยู่ดี

แล้วเราจะรู้ทันคู่แข่งไปเพื่ออะไร… จากที่กล่าวมาข้างต้นอย่างน้อยทำให้แบรนด์ของเรายังคงอยู่ในตลาด แต่เพื่อสร้างแบรนด์ให้มีคุณค่ามากขึ้นเรารู้ทันคู่แข่งก็เพื่อ…

  • เพื่อเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของคู่แข่ง เพื่อที่เราจะได้ไม่เดินไปบนรอยเท้านั้น ยิ่งเราพลาดน้อยเท่าไร ความน่าไว้วางใจในแบรนด์ในมุมมองของลูกค้าก็มีมากขึ้นเท่านั้น
  • เพื่อดูว่าแบรนด์อื่นในตลาดทำอะไรกันอยู่ เมื่อรู้แล้วเราจึงสามารถสร้างความแตกต่างแก่แบรนด์เราได้ ตัวอย่างง่ายๆอย่างหนึ่งที่เห็นบ่อยเช่น ตราสินค้าหรือโลโก้ รวมไปถึงสีของแพ็คเก็จสินค้าที่วางขายบนชั้นในซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนใหญ่เขาใช้สีอะไร ขนาดเท่าใด หากเรารู้ เราก็สามารถทำแพ็คเก็จ ตราสินค้า สี ให้เด่นกว่า ชนิดที่เรากลายเป็นตัวละคร ส่วนแบรนด์อื่นเป็นพื้นหลังได้เลยทีเดียว

  • ยิ่งไปกว่านั้น หากเรารู้ว่าองค์กรเราบริหารงานอย่างไร และก็รู้ว่าองค์กรอื่นบริหารรูปแบบไหนเราสามารถปรับการบริหารงานในองค์กรให้ทัดเทียมได้ เมื่อการบริหารภายในองค์กรดีแล้ว สินค้าและบริการของแบรนด์ที่ออกสู่สายตาผู้คนก็จะดีไปด้วย ดังอุปมาที่ว่า “สาวจะงามก็งามจากภายใน”

ตัวอย่างเช่น การเพิ่มคุณค่าแบรนด์และองค์กรไปพร้อม ๆ กัน การบริหารองค์กรในยุคอุตสาหกรรม 4.0 เช่นทุกวันนี้ อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทมากขึ้น บางแบรนด์บางองค์กรก็สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีอุปสรรคเข้ามา เช่นการมาของโควิด-19 ที่ทำให้หลายบริษัทหันมาทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ประชุมออนไลน์ได้ ใช้เอกสารที่เป็นดิจิตอลมากขึ้นได้ ลดรายจ่ายขององค์กรด้ ระบบต่าง ๆ เหล่านี้หากองค์กรของเราคล่องตัว มีความสามารถในการพร้อมเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งที่ไม่คาดฝัน ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าแบรนด์ได้เร็วยิ่งขึ้น

4. พันธมิตรแห่งแบรนด์ (Co-Branding)

ในวันที่คุณเริ่มมีลูกค้าเป็นฐานแล้วการนำแบรนด์ของคุณไปร่วมเป็นพันธมิตรกับแบรนด์อื่น ก็เป็นอีกวิธีที่ดีไม่น้อย      การทำแบรนด์ร่วมกันนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นอุตสาหกรรมใกล้เคียงกันก็ได้       เราสามารถที่จะสร้างคุณค่าให้เพิ่มขึ้นแก่ฐานลูกค้าของแบรนด์พันธมิตร เฉกเช่นเดียวกัน ฐานลูกค้าของแบรนด์พันธมิตรก็จะเห็นคุณค่าของแบรนด์เราเช่นกัน

ตัวอย่างที่น่านำมาเป็นแบบอย่างได้ดี เช่น การร่วมมือกันของ แบรนด์รถยนต์ BMW และแบรนด์แฟชั่นอย่าง Louis Vuitton ก็ทำออกมาได้อย่างลงตัว

    การร่วมกันสร้างคุณค่าแบรนด์ของสองแบรนด์นี้ผนวกรวมจุดแข็งของตัวเองจนอาจเรียกเป็นธีมที่ว่า “ศิลปะแห่งการเดินทาง” ไม่ว่ายานพาหนะแบรนด์ BMW นี้เดินทางไปที่ไหนก็พกพาความมั่นใจไปกับกระเป๋าเดินทางระดับโลก Louis Vuitton เห็นแบบนี้หากลูกค้าได้เป็นเจ้าของจะรู้สึกอย่างไร

    ไม่หยุดยั้งเพื่อพลังของแบรนด์ในอนาคต

    มาถึงจุดนี้หลาย ๆ ท่านคงพอเห็นภาพการเพิ่มคุณค่าของแบรนด์กันแล้ว แม้ว่าทำวันนี้พรุ่งนี้อาจจะยังไม่เห็นผล แต่ความต่อเนื่องและตรงเป้าจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้แบรนด์เข้มแข็งขึ้นได้ และเมื่อวันนั้นมาถึงแบรนด์ของคุณเองก็อาจจะทำให้เสื้อสีพื้นในจินตนาการ เกิดตราประทับที่ทำเอาลูกค้าอยากควักเงินซื้อแล้วซื้ออีกได้เช่นกัน

    Create SOP manual effectively

    Teachme Biz - Visual SOP Management Platform คือระบบจัดการคู่มือออนไลน์ที่จะเปลี่ยนการจัดการของทั้งคู่มือการทำงาน, Work Instruction, Workflow, หรือ SOP ที่แสนยุ่งยากให้ง่ายด้วยสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว เข้าใจง่ายด้วยภาพและวิดีโอแบบ step-by-step เก็บคู่มือการทำงานของทั้งองค์กรไว้บนออนไลน์ ง่ายแต่ปลอดภัยในการเข้าถึง เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างมาตรฐาน และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรคุณ

    ท่านใดต้องการสร้างคู่มือที่ใช้งานได้จริง หรือต้องการสร้างมาตรฐาน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น ติดต่อปรึกษาเราได้ที่ LINE OA: @studist.th !  

    Pin It on Pinterest

    Share This