062-295−6588 contact-th@studist.co.th

หากเราลองวัดระยะทางจากจุดบนสุดของประเทศไทยตามแผนที่ ไปจนถึงจุดล่างสุดของแดนสยาม ระยะทางในแนวเส้นตรงดิ่งลงมาจะอยู่ราวๆ 1,600 กิโลเมตร ขณะที่อีกซีกโลกหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ แม่น้ำที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกคือ Amazon มีความยาวทั้งสิ้นราวๆ 7,000 กิโลเมตร ลากยาวตั้งแต่ด้านซ้ายของทวีปในประเทศเปรูไปสู่ปากแม่น้ำในประเทศบราซิลออกสู่มหาสมุทรพร้อมกับความหลากหลายทางชีวภาพอันดับต้นของโลก นับเป็นความยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ขึ้นมาบนโลกกลมๆ ใบนี้

บนคำๆเดียวกันนามว่า “Amazon” ที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติสรรค์สร้างแต่เป็นน้ำมือของมนุษย์ Amazon นับเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกด้วยความสามารถในการทำกำไรถึง 11,588 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 หรือประมาณ 350,000 ล้านบาทในหนึ่งปี จากโรงรถเล็กๆในวันแรกของแนวคิดบนโลกอินเตอร์เน็ต 26 ปีผ่านไปของชายที่ชื่อว่า เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) กลายเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ที่คนรู้จักไปทั่วโลกในวันนี้…

แนวคิดธุรกิจในยุคก่อน

ในสังคมของประวัติศาสตร์มนุษย์กว่าสองแสนปี เป็นการยากมากที่จะไม่ให้ธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ธุรกิจในช่วงแรกๆ จึงเน้นไปที่สินค้าเป็นหลัก ทำสินค้าให้คนอื่นสนใจและอยากมีไว้ครอบครอง การแข่งขันก็ยังไม่สูงมาก เพราะยังไม่มีสินค้าหลากหลายให้เลือกมากนัก ใครทำสินค้าอะไรใหม่ๆ มาตอบโจทย์ได้ก็ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ เช่นครั้งที่ยังไม่มีรถยนต์เป็นยานพาหนะแพร่หลาย  เมื่อ Henry Ford เปิดขายรถคันแรกใหม่ๆก็โกยรายได้ไปมหาศาล ธุรกิจจึงเน้นเรื่อง สินค้า คุณภาพ และราคา เป็นสำคัญ มีสามสิ่งนี้เมื่อไรในสมัยนั้นก็แทบจะครองตลาดได้เลย

ผ่านมาหลายทศวรรษหาก Amazon ยังคิดแบบที่กล่าวมาข้างต้น คงไม่มีวันนี้เป็นแน่ ถ้าเช่นนั้นแล้ว Amazon มีแนวคิดดีๆ อย่างไร

แนวคิดที่ 1: ลูกค้ามาเป็นอันดับแรก

มีการกล่าวกันว่า ไม่ว่าการประชุมในองค์กรของ Amazon จะมีขนาดการประชุมขนาดไหน ประชุมเล็กๆ ตั้งแต่ไม่กี่คน ไปจนถึงสิบกว่าคน ห้องประชุมนั้นยังคงมีที่ว่างหนึ่งที่อยู่เสมอ ทุกครั้งของการประชุมเป็นที่แน่นอนว่าลูกค้าไม่ได้มานั่งในที่ประชุมด้วย Amazon จึงมีแนวคิดหนึ่งที่จะให้เสมือนว่าห้องประชุมนั้นมีลูกค้ามานั่งด้วยตลอด และนั่นเองคือเหตุผลที่ว่า 1 ที่นั่งว่างๆ ในทุกการประชุมนั้นเสมือนลูกค้าเข้ามานั่งฟังด้วยนั่นเอง

ห้องประชุมที่จะเว้นที่ว่างไว้สำหรับลูกค้าเสมอใน Amazon

นี่คือแนวคิดหลักอันหนึ่งขององค์กรระดับโลกอย่าง Amazon คือ เอาใจใส่และหลงใหลในลูกค้า ฝังรากลึกตั้งแต่ผู้บริหารไปถึงพนักงานทุกคนที่มีทั้งหมดกว่า 1 ล้านคนแล้วในวันนี้ การจะทำให้คน 1 ล้านคนในองค์กรมีแนวคิดตรงกันไปในทางเดียวกันได้และส่งผลต่อเป้าหมายขององค์กรนั้นดูไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ Amazon พิสูจน์ให้เราเห็นในวันนี้แล้วว่าเขากำลังทำและยังคงทำต่อไป พร้อมกับจะเป็นหนึ่งในบริษัทที่มองลูกค้ามาเป็นอันดับแรกอย่างจริงจังดังประโยคที่ว่า “To be Earth’s most customer-centric company”

แนวคิดที่ 2: การทำงานแบบย้อนกลับ (Working Backward) 

โดยพื้นฐานของกลไกลการคิดของมนุษย์ เราจะคิดและมองตรงไปข้างหน้าอาจด้วยสรีระของร่างกายที่ใบหน้า ดวงตา และส่วนอื่นๆ เอื้อให้เราทำสิ่งต่างๆ เพื่อทะยานไปข้างหน้า แต่แนวคิดการทำงานแบบย้อนกลับของ Amazon นั้นเปลี่ยนแนวความคิดพื้นฐานของมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง Amazon นั้นมีลูกค้ามาเป็นที่หนึ่ง หากไม่ใช้แนวทางการทำงานแบบย้อนกลับแล้วไฉนเลยจะมีลูกค้าเป็นต้นทางได้ ด้วยเหตุนี้เองแนวคิดเรื่องการทำงานแบบย้อนกลับจึงถูกนำมาใช้เป็นแกนหลักของการทำงานใน Amazon

หากเราจะทำงานแบบย้อนกลับบ้างคุณจะเริ่มจากจุดไหน

แนวทางการทำงานย้อนกลับนี้มีความจริงจังมาก ไล่กันตั้งแต่การแถลงข่าวสินค้าหรือบริการใหม่ของ Amazon การร่างโครงสร้างการทำงานแบบย้อนกลับ ตั้งแต่หัวข้อการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน วันที่ที่จะเผยแพร่สินค้าหรือบริการนั้นๆ เนื้อหาของการแถลงว่าปัญหาปัจจุบันของลูกค้าคืออะไร Amazon แก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ลูกค้าอย่างไร สินค้าหรือบริการนั้นๆ ทำงานอย่างไร ลูกค้ามีเสียงตอบรับและจะเข้าถึงมันได้อย่างไร ทั้งหมดนี่ถ้ามองเผินๆ มันควรจะถูกทำขึ้นเมื่อทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่สำหรับ Amazon ทั้งหมดนี่กลับเป็นแค่จุดเริ่มต้น แม้กระทั่งเสียงตอบรับของลูกค้า Amazon ก็ยังลองคิดว่าถ้าสินค้าหรือบริการตัวใหม่ออกมา ลูกค้าน่าจะมีเสียงตอบรับเป็นเช่นไร

แนวคิดที่ 3: ประดิษฐ์คิดค้น

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ชายผู้ได้ชื่อว่าค้นพบทวีปอเมริกา นักสำรวจคนนี้ทำในสิ่งที่ไม่มีคนอื่นคิดจะทำว่ายังมีโลกใหม่แฝงอยู่เบื้องหน้า เฉกเช่นเดียวกัน แม้ทุกวันนี้เราจะเข้าใจแล้วว่าโลกทั้งโลกเป็นอย่างไร แต่กับจิตใจของลูกค้านั้นยังยากแท้ที่จะหยั่งถึง ด้วยข้อดีนี้เอง ที่ทำให้ Amazon มีโอกาสอีกมากมายในการสร้างสรรค์และค้นหานวัตกรรมสินค้าหรือบริการใหม่ๆ มาตอบสนองได้อย่างไม่รู้จบ สิ่งที่ Amazon ทำไม่ใช่แค่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ Amazon ต้องการคิดค้นสิ่งใหม่ สิ่งที่แตกต่าง และมีเอกลักษณ์มากพอที่จะทำให้ลูกค้าชอบได้อยู่เสมอ

นวัตกรรมเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญของ Amazon เหตุผลที่ Amazon ยืนบนบัลลังก์หมายเลขหนึ่งของธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนวัตกรรมในการสร้างสินค้าและบริการต่อสู้กับการตอบสนองความต้องการลูกค้าและคู่แข่งที่โยงใยกันอยู่ทั่วทั้งโลก

– ร้านสะดวกซื้อที่คิวยาว เสียเวลาทอนเงิน ลืมกดเงินสด ปัญหาเหล่านี้หมดไปด้วย Amazon Go

– สินค้าใช้งานยุ่งยาก ปุ่มควบคุมที่ชวนปวดหัว คอลเซ็นเตอร์โทรติดยาก ปัญหาเหล่านี้หมดไปด้วย Amazon Alexa

– สั่งของวันนี้ได้ของพรุ่งนี้ยังช้าไป สั่งตอนนี้ชั่วโมงนี้ได้ของเลยได้ไหม ปัญหาถูกแก้ไขด้วย Amazon Prime Air 

Amazon Go ร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะที่ไม่ต้องจ่ายสดและต่อคิว

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของบริการใน Amazon ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าอยู่เสมอ หากไม่มีนวัตกรรมเหล่านี้ เป็นเรื่องยากนักที่จะก้าวผ่านปัญหาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ เห็นดังนี้แล้ว วันนี้เราคงต้องเริ่มคิดค้นอะไรใหม่ๆ บ้าง อาจจะเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่นไอเดียใหม่ๆ การรวบรวมข้อมูลใหม่ๆ ก็น่าจะดีไม่น้อย

แนวคิดที่ 4: อดเปรี้ยวไว้กินหวาน มองเกมในระยะยาว

Amazon เองก็ลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง ใช่ว่าที่คิดออกมาจะถูกใจลูกค้าเสมอไป แต่แนวคิดดีๆ อันหนึ่งที่น่าสนใจคือหาก Amazon คิดค้นมาแล้วและมั่นใจว่ามันน่าจะสำเร็จ แม้ในวันนี้มันจะยังไม่เห็นผลทันตาแต่ในระยะยาวมันจะสร้างผลที่น่าประทับใจ มันคือการมองเกมในระยะยาว สิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ แปลกๆ ที่บางครั้งไม่เข้าตาลูกค้าแต่หากมันแก้ปัญหาลูกค้าได้จริงไหนเลยที่มันจะไม่ถูกนำมาใช้ นั่นคือเหตุผลที่ Amazon ต้องอดทนรอวันที่ดอกไม้จะผลิบานจะเมล็ดที่พวกเขาได้หว่านเอาไว้

มองเกมยาว อีกหนึ่งแนวคิดของ Amazon

“เราคงต้องใช้เวลาสักนิด อดทนอีกสักหน่อยกับการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ที่กลั่นออกมาจากทุกสิ่งที่พวกเราทำ” ประโยคนี้ของเจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ถือหางเสือลำเรือที่ชื่อว่า Amazon นี้เองที่บ่งบอกว่าการมองเกมยาวๆ เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่องค์กรยึดถือ คู่แข่งคนอื่้นๆ ของ Amazon อาจจะมีกรอบเวลาของโปรเจคหนึ่งๆ ประมาณ 2-3 ปี แต่สำหรับเจฟฟ์ เบโซส์ เขาประมาณการคร่าวๆ ไว้ว่าบริษัทของเขาจะใช้กรอบเวลาคร่าวๆ ประมาณ 5-7 ปี เป็นกรอบเวลาก่อนที่ไอเดียดีๆ จะถูกตรวจแล้วตรวจอีกก่อนถูกนำไปใช้จริง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ Amazon Prime Air ที่เคลมว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าภายใน 30 นาทีหลังกดสั่งซื้อ เร็วชนิดที่ว่าเดินไปปากซอยซื้อยังอาจจะใช้เวลานานกว่า ด้วยนวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับที่ผ่านการอนุมัติจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อย ก็ใช้เวลาตั้งแต่เริ่มเป็นไอเดียจนได้รับการอนุมัติราวๆ 7 ปีทีเดียว

แนวคิดของเจฟฟ์ อาจไม่ใช่ที่สุด

ทั้งหมดนี้คือแนวคิดหลักๆ ที่ Amazon ยึดมั่นมาจนถึงปัจจุบันและทำให้องค์กรสามารถนั่งบนบัลลังก์หมายเลขหนึ่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้จนถึงปัจจุบัน แต่แน่นอนว่าแนวคิดของ Amazon ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เราสามารถนำบางส่วนของแนวคิดไปปรับใช้ให้เข้ากับองค์กรของเราได้ และวันหนึ่งอาจเป็นเวลาของคุณ ที่ไม่ใช่ธรรมชาติสรรค์สร้างให้ยิ่งใหญ่เหมือนแม่น้ำAmazon  หากแต่มาจากสมองและสองมือของทุกคนในองค์กรนั่นเอง

เห็นถึงแนวคิดเฉียบๆ ขององค์กรระดับโลกอย่าง Amazon แล้วก็ทำให้พวกเราชาว Teachme Biz ไม่พลาดที่จะเลือกใช้ Amazon Web Services (AWS) เป็น Data Center สำหรับเก็บองค์ความรู้ขององค์กรที่เป็นลูกค้าของเรา จึงอุ่นใจทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ว่าองค์ความรู้ของพวกเขาจะถูกเก็บอย่างดีโดยองค์กรที่มีคุณภาพ

Create SOP manual effectively

Teachme Biz - Visual SOP Management Platform คือระบบจัดการคู่มือออนไลน์ที่จะเปลี่ยนการจัดการของทั้งคู่มือการทำงาน, Work Instruction, Workflow, หรือ SOP ที่แสนยุ่งยากให้ง่ายด้วยสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว เข้าใจง่ายด้วยภาพและวิดีโอแบบ step-by-step เก็บคู่มือการทำงานของทั้งองค์กรไว้บนออนไลน์ ง่ายแต่ปลอดภัยในการเข้าถึง เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างมาตรฐาน และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรคุณ

ท่านใดต้องการสร้างคู่มือที่ใช้งานได้จริง หรือต้องการสร้างมาตรฐาน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น ติดต่อปรึกษาเราได้ที่ LINE OA: @studist.th !  

Pin It on Pinterest

Share This
Optimized with PageSpeed Ninja